Logo: Empowering the differently able persons
Jump to Content

Thai translation by
Photo Ms. Wipapun
Ms. Wipapun and coordinated by
Photo Miss. Kurnaiti
Ms. Kamolpun Ann

สารบาญ หน้า

สารบาญ

Select a different Langauge

หน้า # 1

คำนำ

ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2007 ท่านประธานของเราได้รับเชิญจากคณะผู้จัดการประชุมนานาชาติ เรื่อง “การท่องเที่ยวที่เอื้ออำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ” (Accessible Tourism) ซึ่งร่วมสนับสนุนการจัดประชุมโดย กระทรวงการท่องเที่ยวและการกีฬา กระทรวงพัฒนาการสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับเอเซียและแปซิฟิคแห่งองค์การสหประชาชาติ (UN ESCAP) และองค์การคนพิการสากลประจำภูมิภาคเอเซียแปซิฟิค (DPI - AP) จัดขึ้นที่ศูนย์ประชุมองค์การสหประชาชาติ (UNCC) กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย

ณ ที่ประชุม ท่านได้เสนอเอกสารเรื่อง “การท่องเที่ยวที่เอื้ออำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ จากมุมมองของคนหูหนวก และคนหูตึง” (Accessible Tourism from the Perspective of Deaf and Hard of Hearing People) หนังสือเล็กๆ เล่มนี้เป็นฉบับที่ปรับปรุงขึ้นจากเอกสารนั้น

ความต้องการของคนหูหนวกโดยทั่วไปแล้ว จะถูกเพิกเฉยในขบวนการเพื่อสิทธิคนพิการ (Disability Movement) และที่โชคร้าย คือคนหูตึง (HOH) ที่แทบจะไม่มีใครเห็นถึงความมีตัวตนและความต้องการของพวกเขาในการเคลื่อนไหวนั้นเลย หวังว่าหนังสือเล่มนี้จะทำให้การรับรู้ ถึงความต้องการของคนหูหนวก

และคนหูตึงเพิ่มมากขึ้น ไม่เพียงในคนทุกคน และในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเท่านั้น แต่กับขบวนการเพื่อสิทธิคนพิการเองด้วย หนังสือนี้ไม่ได้สงวนลิขสิทธิ์ ท่านอาจคัดลอก ทำสำเนา หรือนำข้อมูลไปใช้ได้ หลังจากให้เครดิตแก่ผู้เขียนและองค์การของเรา (DANISHKADAH)

back to top

หน้า # 2

แนะนำผู้เขียน

 Photo of Author Muhammad Akram เป็นคนหูหนวก มาจากปากีสถาน ท่านอยู่ในวงการเทคโนโลยี่สารสนเทศ (IT) มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1992 และในปี ค.ศ. 2000 ได้เริ่มให้ความช่วยเหลือแก่คนพิการ (PWDs) เพราะท่านเองเป็นคนหูหนวก ท่านจึงเข้าใจดีถึงปัญหา และอุปสรรคที่กลุ่มชนคนหูหนวกกำลัง เผชิญอยู่

ท่านทำงานกับคนหูหนวก และคนพิการประเภทอื่นมาแล้ว 7 ปี ท่านเดินทางเป็นประจำ และได้ไปมาแล้ว 9 ประเทศ ทั้งใน เอเซีย ตะวันออกกลาง และยุโรป เข้าร่วมสัมมนา และประชุมต่างๆ ทั้งแห่งชาติและนานาชาติ และได้อาสาให้ความช่วยเหลือ แก่ องค์การคนพิการท้องถิ่น และ องค์การคนพิการนานาชาติหลายองค์การ

ปี ค.ศ. 2004 ไปเป็นอาสาสมัครในอินโดนีเซีย ปี ค.ศ. 2005 ได้รับเลือกจากศูนย์พัฒนาการและฝึกอบรมคนพิการแห่งเอเซียแปซิฟิก (Asia Pacific Development Center on Disability) เข้าฝึกอบรมใน หลักสูตร “Accessible Web and Web Based Networking”. ปี ค.ศ. 2006 ได้รับเลือกเข้าฝึกอบรมในหลักสูตรต่ออายุ (Refresher Course) อีกครั้ง และมีโอกาสได้เสนอผลงาน ในการสัมมนา ของ UN ESCAP ปี ค.ศ. 2007 ได้รับเลือกเป็นหัวหน้าภาคการศึกษา จัดโดยสมาพันธ์เยาวชนคนหูตึง นานาชาติ (International Federation of Hard of Hearing Youths) ด้วยการสนับสนุนของสภายุโรป (Council of Europe). ขณะนี้ ท่านกำลังส่งเสริม เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับ การเอื้ออำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ ในปากีสถาน และเขียนหนังสือในหัวข้อนี้ด้วย

ในปี ค.ศ. 2006 ได้ก่อตั้งองค์การ DANISHKADAH ของท่านขึ้น และกำลัง จัดสร้าง “อุทยานแห่งการเรียนรู้” (Knowledge Park) เป็นที่ซึ่งพลังจากเทคโนโลยี่สารสนเทศ จะถูกใช้ให้เป็นประโยชน์ ในการเสริมพลัง สร้างศักยภาพแก่ คนพิการและคนหูหนวก

องค์การที่ท่านกำลังดำเนินการช่วยเหลือ

ประธานผู้ก่อตั้ง - DANISHKADAH ปากีสถาน

ผู้ร่วมก่อตั้ง - สภาคนพิการแห่งรัฐสินธ์ (Sindh Disability Forum) ปากีสถาน

ผู้ช่วยผู้อำนวยการ - เพื่อนคนหูหนวกนานาชาติ (Deaf Friends International) สหรัฐอเมริกา

ที่ปรึกษาและผู้ประสานงานโครงการพิเศษ - สมาคมคนหูหนวกแห่งปากีสถาน (Pakistan Association of Deaf –PAD)

อาสาสมัคร - Matahariku อินโดนีเซีย

อาสาสมัคร - Deaf Tour Assistance Philippines

อาสาสมัคร - Heaven Care Resource Center Inc. ฟิลิปปินส์

ท่านทำงานให้องค์การคนพิการสากล (DPI) ในปากีสถานด้วยเช่นกัน

back to top

หน้า # 3

1. อุปสรรคที่ สถานเอกอัครราชทูต และสถานกงสุล

นักท่องเที่ยวจะต้องไปติดต่อที่สถานทูต เพื่อขอวีซ่าเข้าประเทศ หรือ เพื่อขอข้อมูลต่างๆ อยู่เสมอ ดังนั้น สำหรับการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ การอำนวยความสะดวกในการเข้าไปติดต่อภายในสถานทูต สถานกงสุล จึงสำคัญ

1.1 หน้าต่างสีเข้ม

ในประเทศของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าได้ประสบอุปสรรคในการติดต่อสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ภายในสถานทูต อย่างน้อย 2 แห่ง เพราะ ที่เคาน์เตอร์แผนกต้อนรับ มีหน้าต่างสีเข้มติดตั้งไว้ ทำให้ไม่สามารถมองเห็นตัวบุคคลที่อยู่อีกด้านหนึ่งได้ พวกเราจึงไม่สามารถอ่านริมฝีปาก หรือเห็นภาษากายของท่านเหล่านั้น จึงเป็นปัญหาสำคัญของคนหูหนวกและคนหูตึง

เราสามารถทำอะไรได้บ้าง

พวกเราเข้าใจในประเด็นของการรักษาความปลอดภัย เจ้าหน้าที่สถานทูต ตามปรกติจะใจดีและให้ความร่วมมือช่วยเหลือดี แต่ปัญหาอยู่ที่พนักงานทั่วไป ดังนั้นจึงควรมีการนิเทศงานแก่พนักงานทั่วไปด้วย

1.2 จ่ายมากกว่า ถ้าท่านหูหนวก

ปัญหาที่ 2 นั้น เพราะสถานทูตหลายแห่งตั้งอยู่ในเมืองหลวงเท่านั้น เมื่อคนหูหนวกต้องเดินทางเข้าเมืองหลวงเพื่อดำเนินการขอวีซ่า พวกเขาจะต้องพาล่ามไปด้วย ซึ่งเป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่าย ไม่เพียงแต่ต้องจ่ายค่าตั๋วเครื่องบิน หรือตั๋วรถไฟให้เท่านั้น ยังต้องจ่ายค่าที่พักในโรงแรม และค่าอาหารของล่ามด้วย

เราสามารถทำอะไรได้บ้าง

รัฐบาลควรต้องจัดบริการล่ามฟรี ให้คนหูหนวก หรือสถานทูตควรจะเรียกจ้างล่ามมาด้วยงบค่าใช้จ่ายของสถานทูตเอง สมาคมคนหูหนวก หรือสมาคมคนหูตึงแห่งชาติ ควรพยายามจัดตั้งการบริการล่ามขึ้นด้วยเช่นกัน

back to top

หน้า # 4

image or airplane

2. อุปสรรคในเที่ยวบิน

2.1 คำแนะนำเพื่อความปลอดภัย

ความปลอดภัยมาเป็นอันดับแรก ทุกสายการบินให้คำแนะนำถึงวิธีปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยบนเครื่องบิน พวกเราหลายคนอาจจะไม่เห็นความสำคัญ แต่คำแนะนำนั้น จำเป็นและสำคัญยิ่งในกรณีฉุกเฉิน

แม้ว่าคำแนะนำเพื่อความปลอดภัยในเที่ยวบิน จะมีทั้งการสาธิตให้เห็นด้วยตา และจัดพิมพ์เป็นเอกสาร ข้าพเจ้าสงสัยว่าคนหูหนวกหลายๆคน จะสามารถเข้าใจได้หรือ เพราะภาษาโดยกำเนิดของเราคือภาษาใบ้ ไม่ใช่ภาษาพูด ดังนั้นการให้คำแนะนำเป็นภาษาใบ้จึงเป็นเรื่องสำคัญ

เราสามารถทำอะไรได้บ้าง

วีดิทัศน์แนะนำวิธีปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยในเที่ยวบิน ควรให้คำแนะนำเป็นภาษาใบ้ด้วย ข้าพเจ้ามีความสุขที่จะบอกท่านว่า มีบางสายการบิน (__) จัดให้มีล่ามแสดงคำแนะนำเพื่อความปลอดภัยในเที่ยวบิน เป็นภาษาใบ้แล้ว (ในวีดิทัศน์) แต่สายการบินส่วนใหญ่ไยังไม่มีการปฏิบัติเช่นนี้

ข้าพเจ้ามีความเชื่อเป็นส่วนตัวว่า สมาคมการบินนานาชาติ (IATA) จะสามารถปรับปรุง คำแนะนำนั้น ให้เป็นภาษาใบ้สากล โดยการปรึกษากับสมาพันธ์คนหูหนวกโลก (WDF) สมาคมการบินนานาชาติ และรัฐบาลควรวางนโบาย หรือกฎข้อบังคับเกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วย

2.2 สิ่งบันเทิงในเที่ยวบิน

ขณะที่กำลังเตรียมงานที่จะเสนอในครั้งนี้ ข้าพเจ้าสนทนากับเพื่อนที่เป็นคนหูตึง ชื่อ Karina เป็นประธาน ของ IFHOHYP (International Federation of Hard of Hearing Young People) และชื่อ Christi Menheere จาก ฮอลแลนด์ คนหูตึงต้องอาศัยอวัยวะสำหรับการได้ยิน ที่ยังใช้การได้ส่วนที่เหลืออยู่ และใช้เครื่องช่วยฟัง (hearing aids)ด้วย หรือได้รับการปลูกอวัยวะรูปหอยโข่งในหูส่วนใน (cochlear implants) พวกเขาต้องการเสียงที่ชัดเจน ไม่มีเสียงรบกวนแทรก จึงจะฟังเข้าใจได้ดี Christi ให้ความเห็นว่า ในเครื่องบินที่ใช้ในการเดินทางระยะไกล จะมีโทรทัศน์เครื่องเล็กอยู่หน้าที่นั่ง และมีเต้ารับสำหรับเสียบหูฟังวิทยุ ฯ ที่มีก้านครอบลงบนศีรษะ(Headphone) แต่มันไม่สามารถทำงานกับ loop system* ได้ สายการบินต่างๆสามารถอำนวยความสะดวกสบายให้ผู้โดยสารที่หูตึงได้ โดยฉายภาพยนตร์ที่มีบทบรรยายใต้ภาพ (subtitles) และมี loop system

เราสามารถทำอะไรได้บ้าง

บทบรรยายใต้ภาพมีความจำเป็น เป็นหน้าที่รับผิดชอบของผู้ผลิตภาพยนตร์ สายการบินต่างๆ สามารถสั่งให้ภาพยนตร์ที่จะฉาย มีบทบรรยายใต้ภาพสำหรับผู้โดยสารที่หูหนวกและหูตึง และข้าพเจ้าได้สนทนา กับ Mr. Neil Bauman, Ph.D. จากศูนย์ช่วยเหลือผู้สูญเสียการได้ยิน (Center for Hearing Loss Help) ถึงระบบ loop system บนเครื่องบิน ท่านแนะว่าวิธีแก้ปัญหาที่ง่ายที่สุด คือ ใช้ Neck-loop** เพียงเสียบ Neck-loop กับเต้ารับของหูฟังบนเครื่องบิน เปิดให้ T-coils*** บนเครื่องช่วยฟังทำงาน และฟังเสียงที่ต้องการได้ตามใจชอบ ตามที่ท่านแนะนำมานี้ คนหูตึงจำนวนไม่มากนัก ที่รู้จักอุปกรณ์เครื่องช่วยที่จะช่วยพวกเขาให้ได้ยินเสียงชัดขึ้น ไม่ใช่ว่าผู้อื่นจะต้องทำสิ่งต่างๆ เพื่อช่วยเอื้ออำนวยความสะดวกให้แก่พวกเราอยู่ตลอดเวลา บางทีคนเราควรต้องช่วยตนเองด้วย - - และการมี Neck-loop หรืออุปกรณ์เชื่อมต่อสำหรับฟังเพลงนั้น ก็ไม่ได้แพงนัก

เรื่องนี้ได้เตือนใจข้าพเจ้าว่า เราไม่ควรจะเรียกร้องเพียงอย่างเดียว เราจำเป็นต้องรวจสอบหาวิธีแก้ ปัญหาที่เป็นไปได้ และสามารถนำมาใช้ได้ องค์กรเพื่อคนพิการ และองค์กรอื่นๆ ต้องให้ความรู้แก่คนพิการเกี่ยวกับอุปกรณ์เครื่องช่วย และวิธีแก้ปัญหาต่างๆที่สามารถนำมาใช้ได้

* loop system หรือ induction loop amplifier คือ อุปกรณ์ที่มีส่วนประกอบเป็นวงขดลวดเหนี่ยวนำไฟฟ้า เครื่องจะขยายเสียงให้ดังแล้วป้อนส่งไปที่ loop มีผลต่อกระแสไฟฟ้าใน loop ทำให้เกิดสนามแม่เหล็กไฟฟ้า ที่เกี่ยวข้องกับเสียงนั้นๆ ซึ่ง T-coil บนเครื่องช่วยฟัง จะดักรับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้านั้นได้

** Neck-loop เป็น induction loop ชนิดคล้องคอที่มีน้ำหนักเบา สามารถเสียบกับเต้ารับของอุปกรณ์เครื่องเสียง เช่น วิทยุ โทรทัศน์ เครื่องเล่น CD หรือ MP3 ฯ รวมทั้งโทรศัพท์มือถือ

*** T-coils หรือ Telecoils บนเครื่องช่วยฟังบางชนิด จะดักรับเสียงในรูปของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากloop เครื่องช่วยฟังจะขยายเสียงนั้นให้คนหูตึงได้ยินอย่างชัดเจน ไม่มีเสียงรบกวน - ผู้แปล

back to top

หน้า # 5

3. อุปสรรคของการเดินทางด้วยบริการการขนส่งทางบก

3.1 ประสบการณืเชิงลบที่สถานีรถไฟ

นับแต่ข้าพเจ้ามาเป็นผู้ให้การช่วยเหลือคนพิการ ข้าพเจ้าต้องเดินทางด้วยรถไฟบ่อยๆ ซึ่งเป็นสาเหตุของความอึดอัดคับข้องใจ เพราะไม่มีระบบแจ้งข้อมูลด้วยภาพหรือตัวอักษร ที่สถานีรถไฟ ครั้งหลังสุดต้องเดินทางไปเยี่ยมสมาคมคนหูหนวกแห่งหนึ่ง รถไฟเที่ยวขาถลับมาถึงช้ากว่ากำหนด ข้าพเจ้าไม่สามารถนั่งคอยอย่างผ่อนคลายในห้องพักผู้โดยสารเพราะเกรงว่าจะพลาดรถเที่ยวนั้น เนื่องจากไม่สามารถได้ยินเสียงประกาศจากเครื่องขยายเสียงของทางสถานี และไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับเวลาที่รถไฟจะมาถึง ดังนั้นข้าพเจ้าจึงไปนั่งที่ ชานชาลาเป็นเวลาถึง 3 ชั่วโมงเพื่อคอยรถไฟ แทนที่จะได้นั่งสบายๆ ในห้องพักผู้โดยสาร

3.2 ประสบการณ์เชิงลบในต่างประเทศ (ในรถประจำทาง)

photo of a bus เมื่อข้าพเจ้าอยู่ต่างประเทศ และต้องการประหยัดเงิน ข้าพเจ้าตัดสินใจใช้บริการรถประจำทาง ข้าพเจ้ารู้ว่าข้าพเจ้าอยู่ที่ใด ต้องการไปไหน และด้วยรถประจำทางสายใด

ปัญหาแรกที่ประสบเมื่อขึ้นไปบนรถคือ ไม่รู้ว่าจะต้องจ่ายค่าโดยสารเป็นจำนวนเท่าไร แก่พนักงานขับรถ ข้าพเจ้าพยายามชี้ตำแหน่งของสถานที่ที่ต้องการไปบนแผนที่ และบอกเขาว่าข้าพเจ้าเป็นคนหูหนวก ข้าพเจ้าถามถึงราคาค่าโดยสาร แต่พนักงานขับรถไม่มีความอดทนเป็นอย่างยิ่ง และไม่พยายามให้ความช่วยเหลือ ซึ่งทำให้ข้าพเจ้าเกิดความรู้สึกไม่ดีกับการที่หูหนวก ผู้ โดยสารอีกท่าน ที่อยู่ถัดจากข้าพเจ้าเข้าใจในสถานการณ์ ได้หยิบเงิน 2-3 เหรียญจากมือข้าพเจ้าใส่ในเครื่องจำหน่ายตั๋ว

ข้าพเจ้าได้ที่นั่งแล้ว แต่ปัญหาต่อมาคือ การเข้าเมืองครั้งนั้น เป็นครั้งแรกของข้าพเจ้า ทำให้

ไม่สามารถรู้ด้วยการมองว่า จะต้องลงที่ป้ายหยุดรถประจำทาง ป้ายใด ทุกๆครั้งที่รถหยุดตามป้ายข้าพเจ้าจะคิดว่า “อยู่ที่ไหนแล้ว ใช่ป้ายที่ต้องการลงหรือไม่” ซึ่งทำให้ข้าพเจ้าไม่สบายใจ

3.3 ประสบการณ์เชิงบวก

photo showing visual signals system in hongkong trains

หลังจากประสบการณ์เชิงลบ ข้าพเจ้าหลีกเลี่ยงการเดินทางคนเดียวด้วยรถประจำทาง หรือรถไฟในต่างประเทศ แต่เมื่อปีที่ผ่านมา ข้าพเจ้าอยู่ในฮ่องกง เดินทางหลายครั้งด้วยรถไฟสายในเมือง (in-city train) โดยไม่เกิดปัญหาใดๆ พวกเขามีระบบที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เรากำลังเดินทางไปยังสถานที่ใด ไปทิศทางไหน และเราจะถึงสถานีอะไรต่อไป ระบบการแสดงข้อมูลด้วยภาพหรือตัวอักษรนี้ ช่วยคนหูหนวกได้มาก และข้าพเจ้าขอแนะนำให้รถประจำทางทุกคัน และรถไฟทุกขบวนมีระบบนี้ไว้ใช้

back to top

หน้า # 6

4. อุปสรรคในที่พักอาศัย

Photo of Miss Miles Mutia in laxury lodging in Philippines

4.1 ความปลอดภัย และ การเอื้ออำนวยความสะดวกในการเข้าพักอาศัย

โรงแรมและเกสต์เฮาส์ เป็นสถานที่ควรให้ความสนใจเป็นอย่างยิ่ง ในการท่องเที่ยวที่เอื้ออำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการ และผู้สูงอายุ ในฐานะที่ข้าพเจ้าเป็นคนหูหนวก คำถามที่ว่า “เราจะปลอดภัยในห้องพักของโรงแรมนี้หรือไม่” มักจะผุดขึ้นในใจของข้าพเจ้าเสมอ โดยเฉพาะหลังจากเกิดสึนามิ และแ ผ่นดินไหว ขอพูดด้วยความสัตย์ว่า ในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินใดๆก็ตาม คนหูหนวกจะไม่ปลอดภัยในห้องพักของโรงแรมลย ไม่มีสัญญาณเตือนภัยสำหรับคนหูหนวก และดูเหมือนว่า จะไม่มีผู้ใดพิจารณาถึงอันตรายจากปัญหานี้อย่างจริงจัง

ปัญหาอีกข้อคือ ไม่มีกระดิ่งที่ส่งสัญญาณเป็นภาพ หรือตัวอักษร (Visual bell) ในห้องพักของโรงแรม ซึ่งก่อให้เกิดอุปสรรคขึ้นกับคนหูหนวก ในปี ค.ศ. 2004 ข้าพเจ้าอยู่ใน มาเลเซีย ใครคนหนึ่ง ต้องมารับข้าพเจ้าไปเที่ยวชมบ้านเมือง เมื่อมาถึงก็เคาะประตูห้องพักของข้าพเจ้า แต่ข้าพเจ้าไม่ได้ยินทั้งเสียงเคาะประตู และเสียงกระดิ่ง เพราะหูหนวก เขาจึงต้องเรียกเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยมาช่วยพาข้าพเจ้าออกจากห้อง (ยิ้ม)

เราสามารถทำอะไรได้บ้าง

วิธีแก้ปัญหานี้ง่าย และไม่แพง มีกระดิ่งที่ส่งสัญญาณเป็นภาพ และเครื่องสั่นสะเทือนขายในท้องตลาด แม้แต่ที่เป็นระบบไร้สาย ก็สามารถนำมาปรับปรุงได้ง่าย และติดตั้งให้ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในห้องพักสำหรับแขกของโรงแรมที่หูหนวก

4.2 อุปสรรคในการติดต่อสื่อสารในที่พักอาศัย

ในโรงแรมจะมีโทรศัพท์ติดต่อภายในไว้บริการเสมอ ให้ท่านโทรติดต่อแผนกต้อนรับและห้องพักอื่นๆ แต่คนหูหนวกไม่สามารถใช้ประโยชน์จากบริการนี้ได้ เมื่อพวกเขาประสงค์สิ่งใด ก็ต้องไปที่เคาน์เตอร์แผนกต้อนรับด้วยตนเอง ถ้าต้องการติดต่อเพื่อนที่พักอยู่อีกห้องหนึ่ง ก็ต้องไปหาเพื่อนที่ห้องพักด้วยตนเอง

เราสามารถทำอะไรได้บ้าง

ปัจจุบันนี้ โทรศัพท์ที่รับ -ส่งข้อความได้ มีขายในท้องตลาด โทรศัพท์ไร้สายที่บริการรับ -ส่งข้อความได้นี้ หาซื้อได้ ในประเทศของข้าพเจ้า ในราคาเพียง 35 ดอลลาร์ และให้ ใช้บริการรับ -ส่งข้อความได้ฟรี ทางโรงแรมอาจจะพิจารณาให้มีโทรศัพท์เช่นนี้ 2-3 เครื่อง สำหรับแขกของโรงแรมที่หูหนวกได้ใช้ เพื่อความสะดวก

back to top

หน้า # 7

5. เป็นอาหาร “ฮาลาล” หรือไม่

ประเด็นสุดท้ายนี้ ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับความพิการ แต่ก็เป็นประเด็นสำคัญเมื่อเราพูดถึงเรื่อง การท่องเที่ยว จะมีทั้งอหารที่ชอบ หรือไม่ชอบ หรือเป็นอาหารที่มีข้อจำกัด และข้อกำหนดในการบริโภค เช่น “ฮาลาล”* “โคเชอร์”** และ มังสวิรัติ

ในฐานะที่เป็นมุสลิม ข้าพเจ้าจะต้องแน่ใจว่าอาหารที่กำลังรับประทานนั้น เป็น”ฮาลาล”

เมื่อข้าพเจ้าเดินทางไปต่างประเทศ เรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่สำหรับข้าพเจ้า ยกตัวอย่างเช่น อาหารนั้นอาจเป็น”ฮาลาล”แน่นอน แต่ถ้าข้าพเจ้าไม่สามารถพิสูจน์ถึงเครื่องปรุงของอาหาร ก็ ไม่สามารถรับประทานได้ บางที ผู้ที่ต้องปฏิบัติตามข้อจำกัด และข้อกำหนดในการบริโภคท่านอื่นๆ จะประสบปัญหาที่คล้ายกันนี้

* “ฮาลาล” (Halal) เป็นอาหารของชาวมุสลิม ที่ปรุงขึ้นด้วยเครื่องปรุง และวิธีการที่ถูกต้องตามบัญญัติศาสนาอิสลาม มีคุณค่าทางอาหาร ถูกสุขอามัย ปลอดจากสิ่งต้องห้ามทางศาสนา และสิ่งปนเปื้อนต่างๆ

** “โคเชอร์” (Kosher) เป็นอาหารของชาวยิวผู้เคร่งศาสนา ปรุงด้วยเครื่องปรุง ภาชนะ และวิธีการที่ถูกต้องตามหลักศาสนายูดาย เป็นอาหารที่เหมาะสมและเป็นไปตามข้อกำหนด - ผู้แปล

เราสามารถทำอะไรได้บ้าง

เครื่องปรุงอาหารส่วนใหญ่ จะเป็น “ฮาลาล” แม้กระนั้น พวกเราต้องตรวจสอบเครื่องปรุง ที่ใช้ประกอบอาหารก่อนรับประทาน ถ้าอาหารนั้นมีเครื่องหมาย“ฮาลาล” กำกับอยู่ จะช่วยให้เรารู้สึกผ่อนคลายขึ้น เราต้องการเพียงได้เห็นเครื่องหมาย แทนที่จะต้องตรวจสอบเครื่องปรุงทุกชนิดที่ใช้ในการผลิต และเรื่องนี้จะก่อให้เกิดผลประโยชน์แก่อุตสาหกรรมอาหารสำเร็จรูป เพราะจะเพิ่มยอดขายให้สูงขึ้น

back to top

หน้า # 8

ข้อเสนอแนะ

เมื่อครั้งที่ข้าพเจ้าเดินทางไปอินโดนีเซีย ข้าพเจ้าไม่รู้ว่า มีเคาน์เตอร์บริการคนพิการที่สนามบิน ดังนั้นจึงไม่สามารถใช้ประโยชน์จากบริการนั้น ในทำนองเดียวกัน อาจจะมีที่พักอาศัย ที่จัดเป็นพิเศษสำหรับคนพิการในประเทศต่างๆ แต่นักท่องเที่ยวที่เป็นคนพิการ ไม่ตระหนักถึงเรื่องนี้ ด้วยเหตุผลนี้ ข้าพเจ้าขอเสนอแนะให้มี “ศูนย์รวมข้อมูลการท่องเที่ยวที่เอื้ออำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ และผู้สูงอายุ” (Accessible Tourism Portal) แม้ว่าจะมีอยู่บ้างแล้วในบางเว็บไซต์ แต่เราสามารถมุ่งความสนใจไปที่ประเทศในเอเซีย แปซิฟิค ถ้าท่าน ผุ้ใดประสงค์จะดำเนินการตามข้อเสนอแนะนี้ DANISHKADAH เสนอให้การสนับสนุนในทุกอัตรา และทุกวิธีการที่เป็นไปได้

photo of 3 doves flying around the globe each taged with Love, Peace and Friendship

back to top

decoration line
HOPE is the DOOR of STRUGGLE that eventually bring SUCCESS (Akram)
decoration line

Valid XHTML 1.0 Transitional Valid CSS!